งานแฟร์สุดอลังที่เราไม่ควรพลาด Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 62 ในเดือนกันยายนนี้ ภายในงานเราจะได้ตามรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังมีการโชว์เทคโนโลยีในการผลิตอัญมณีทั้งของไทยและต่างประเทศ แถมมีแฟชั่นโชว์ให้เราได้ดูอีกด้วย หากใครอยากได้อัญมณีเครื่องประดับแบบโบราณหรือแอ็กเซสซอรีดีไซน์เก๋สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันในราคาที่จับต้องได้ ต้องมางานนี้!
คำว่า ‘นพรัตน์’ ซึ่งเป็นอัญมณีหินสี 9 ชนิด ที่เต็มไปด้วยความหมายอันเป็นมงคลมาอยู่ในชื่อของเมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งพระราชทานนามโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎหมายข้อห้ามไม่ให้ราษฎรหรือข้าราชการใช้เครื่องประดับ แต่อัญมณีล้ำค่ากลับเป็นสิ่งสำหรับขุนนาง ชนชั้นสูง ที่เจ้านายมอบให้เป็นสินน้ำใจเมื่อทำความดีความชอบ และเครื่องบรรณาการที่ถูกส่งมาเพื่อแสดงความจงรักภักดีและความสัมพันธ์อันดีเท่านั้น
ผู้คนในปัจจุบันนี้รู้จักแต่งตัวมากขึ้น แฟชั่นจึงเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนยุคนี้ในการสร้างสรรค์ลุคในชีวิตประจำวัน จับกางเกงตัวโน้นมาแมตช์กับเสื้อตัวนี้ เหมาะกับทรงผมแบบนี้ และสิ่งที่ช่วยเติมเต็มลุคให้ดูสมบูรณ์แบบและเสริมบุคลิกให้เราดูดีขึ้น นั่นก็คือการใส่เครื่องประดับ
ดังนั้นเครื่องประดับจึงผสมผสานอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันได้อย่างลงตัว นอกจากนี้เครื่องประดับยังสื่อถึงความหมายพิเศษ ความรักความห่วงใย เอกลักษณ์ตัวตน รวมไปถึงลำดับชั้นทางสังคมด้วย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เครื่องประดับจึงไม่ใช่สิ่งไกลตัวอย่างแต่ก่อน ที่เป็นสิ่งล้ำค่าราคาแพงเกินเอื้อม สมัยก่อนเราจะเห็นคนซื้อเครื่องประดับก็ต่อเมื่อโอกาสสำคัญหรือซื้อเป็นของขวัญให้คนพิเศษเพื่อเป็นการแสดงความรักเท่านั้น พอมาในยุคนี้ การที่ผู้หญิงซื้ออัญมณีหรือเครื่องประดับใส่เอง โดยไม่ต้องรอแหวนหมั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป
หากมองย้อนกลับไป อัญมณีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่โบราณและมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ ขนบธรรมเนียม ยศศักดิ์ นิสัยใจคอ รวมไปถึงความเป็นสิริมงคล จากหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาบอกว่า มนุษย์ใช้เครื่องประดับในการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งแสดงออกถึงสุนทรียภาพทางงานศิลป์ด้วย THE STANDARD จะพาคุณย้อนไปดูว่า ไลฟ์สไตล์กับเทรนด์อัญมณีของคนแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปในสมัยสุโขทัย รูปแบบของเครื่องประดับได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบลังกา ซึ่งมาพร้อมกับการรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ นอกจากนี้ยังมีการคิดประดิษฐ์ใหม่ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองมากขึ้น เครื่องประดับในสมัยนั้นมักทำจากทองคำ ถม และเงิน นิยมประดับด้วยอัญมณี 7 สี โดย แก้วมณีรัตน์ และ เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เป็นเครื่องประดับสำหรับชนชั้นสูงที่มีการประดับอัญมณีสีต่างๆ เข้าไป รูปแบบของเครื่องประดับนี้มี ศิราภรณ์ (มีลักษณะคล้ายเทริด แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนกระบังหน้าและส่วนรัดเกล้า) กรองศอ กำไลข้อมือ ต่างหู ปั้นเหน่ง และสำหรับสตรีชั้นสูง พบว่ามีทองปลายแขนและแหวน ด้วยรูปแบบเครื่องประดับที่ลักษณะเฉพาะตัวนี้ จึงได้กลายเป็นแบบอย่างเครื่องประดับสมัยอยุธยาในเวลาต่อมา
เครื่องประดับตกแต่งร่างกายของคนในสมัยนั้นไม่ค่อยจะมีนัก เพราะเขามีกฎหมายข้อห้ามไม่ให้ราษฎรหรือข้าราชการใช้เครื่องประดับที่มีราคาแพง อย่างเช่นตอนหนึ่งของกฎหมายโบราณที่ว่า ‘จะแต่งบุตรและหลานก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภัควจั่นจำหลักประดับพลอยแดงเขียวเท่านี้ก็ให้ใส่แต่ลายแทงและเกลี้ยงเกี้ยว อย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ แลแหวนถมราชาวดีประดับพลอยห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยแลอาณาประชาราษฎร์ ช่างทองกระทำให้ด้วยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก’ อาจเป็นเพราะข้อห้ามนี้ จึงทำให้คนทั่วไปอยากมีเครื่องประดับตกแต่งร่างกายกับเขาบ้าง จึงมีการทำพวกกำไล ปิ่นปักผม แหวน ที่ทำมาจากทองเหลืองตะกั่วซึ่งมีราคาถูก ส่วนเครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีล้ำค่าเป็นเรื่องสำหรับขุนนาง ชนชั้นสูง ที่เจ้านายมอบให้เป็นสินน้ำใจเมื่อทำความดีความชอบ อัญมณียังเป็นเครื่องบรรณาการที่ส่งมาเพื่อแสดงความจงรักภักดีและความสัมพันธ์อันดีต่อเมืองนั้นๆ เช่น กำไลทอง แหวนเพชร สร้อยพลอย ฯลฯ
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-3 รูปแบบของเครื่องประดับไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยามากนัก การใช้เครื่องทองยังเป็นของชนชั้นสูงอยู่ ส่วนราษฎรทั่วไปสามารถสวมใส่เครื่องประดับได้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่วัสดุจะทำมาจากทองเหลืองตะกั่ว เพราะมีราคาถูกกว่า และมีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงความสนใจในอัญมณีนพเก้า คือในสมัยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามเมืองหลวงเป็น ‘กรุงเทพมหานคร มีชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ ทรงเปรียบให้กรุงเทพฯ เป็นดั่งเมืองสวรรค์ เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ไปด้วยแก้วเก้าประการ จะสังเกตได้ว่าคำว่า ‘นพรัตน์’ ซึ่งเป็นอัญมณีหินสี 9 ชนิด ที่เต็มไปด้วยความหมายอันเป็นมงคล มาอยู่ในชื่อของเมืองหลวงของประเทศไทยด้วย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น และในสมัยนี้ได้มีการทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในการปฏิบัติราชการแก่พระราชวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป หญิงสาวในสมัยนั้นก็นิยมใส่เครื่องประดับกันมากขึ้น เช่น ต่างหูเพชร พลอย กรรเจียกจร กำไลแขน สร้อยสังวาลย์ เป็นต้น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการเครื่องประดับและการแต่งกายเลยก็ว่าได้ ชาวบ้านทั่วไปสามารถเข้าถึงอัญมณีได้ง่ายขึ้นและสนุกกับการแต่งตัวมากขึ้น
เพราะในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรป ทำให้มีการใช้เครื่องประดับตามอย่างชาวตะวันตกมากขึ้น เช่น การใช้เข็มกลัดติดเสื้อ การประดับเครื่องแบบด้วยเครื่องหมายของหน่วยงาน การจัดทำเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ และได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานของเครื่องประดับให้มามีส่วนในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเป็นการผสมผสานการใช้งานแบบดั้งเดิมกับศิลปวัฒนธรรมของชาวตะวันตก โดยในสมัยนั้นผู้หญิงนิยมใส่เข็มขัดทองหัวเพชรพลอย แหวน กำไล สร้อยไข่มุก ซึ่งเป็นการใส่เครื่องประดับตามฐานะ หลังจากนั้นพอมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้การแต่งกายและเครื่องประดับเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น การคาดศีรษะด้วยผ้าหรือไข่มุกเป็นที่นิยมของสาวๆ สมัยนั้นมาก และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 มาจนถึงปัจจุบัน เครื่องประดับได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น สามารถหาซื้อได้ง่ายมากขึ้น
นับตั้งแต่โบราณกาล มนุษย์ได้รู้จักนำอัญมณีมาประดับตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงาม และยังนิยมนำมาเป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลความเชื่อในพลังของอัญมณีมาจากประเทศอินเดีย โดยอัญมณีที่จัดว่าเป็นอัญมณีที่มีความเป็นมงคลสูงสุดในบรรดาอัญมณีทั้งปวงตามตำราความเชื่อของคนไทยนั้นมีอยู่ 9 ชนิด หรือที่เรียกกันว่า นพเก้า หรือ นพรัตน์ มีความเชื่อว่าอัญมณีแต่ละชนิดเป็นสัญลักษณ์แทนดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ดวงในระบบสุริยะ ซึ่งมีเทพดูแล อัญมณีนพเก้าแต่ละชนิดมีสีสันความสวยงามและความหมายที่เป็นมงคลต่างกัน ได้แก่ เพชร เสริมในเรื่องความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีชัยเหนือศัตรู, ทับทิม เสริมมงคลเรื่องความสำเร็จ ลาภยศ และอายุยืน, ใครที่อยากเสริมเรื่องความกล้าหาญและป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง ควรใส่เครื่องประดับที่เป็น มรกต, ส่วนคนไหนที่ต้องการเป็นที่รัก มีเสน่ห์ บุษราคัม ช่วยเสริมดวงในเรื่องนี้, โกเมน คือสัญลักษณ์ของสุขภาพดี อายุยืน, ไพลิน เสริมดวงเรื่องความรัก ความเมตตา และเงินทอง, มุกดาหาร คือความสงบสุข ร่มเย็น, เพทาย สัญลักษณ์ของความร่ำรวย การชนะ และ ไพฑูรย์ เป็นอัญมณีที่หมายถึงการปกป้องคุ้มครองของเทวดา
ในช่วงกลางปี 2557 อัญมณีนพเก้ากลับมาทวงบัลลังก์อัญมณียอดฮิตของคนไทยนิยมสวมใส่เพื่อความเป็นมงคล เนื่องจากเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากจะถือฤกษ์ยามยึดเอาบูรณฤกษ์ในวันมงคลแล้ว ยังยึดตำราโหราศาสตร์ตามคติความเชื่อโบราณ ด้วยการสวมแหวนนพเก้าที่นิ้วนางข้างซ้ายในพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย จากนั้นแหวนนพเก้าจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย กลายเป็นเครื่องประดับที่สามารถใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับของเมืองไทยมีการพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น จนทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต Colored Stone หรืออัญมณีหินสีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ตอนนี้อัญมณีได้กลายเป็นเครื่องประดับที่เราใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว กลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของเราได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะทำงาน ไปเที่ยว หรือว่านัดกับคนพิเศษ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการนำอัญมณีหินสีที่เป็นมงคลมาตกแต่งเคสมือถือเพื่อเพิ่มความหรูหรา ทันสมัย และยังช่วยเสริมมงคลอีกด้วย เห็นไหมว่าอัญมณีสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เข้ากับเราได้ทุกโอกาสจริงๆ และจากการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของอัญมณีที่สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ อุตสาหกรรมอัญมณีได้ขยายตัวขึ้น อัญมณีได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ และถ้าพูดถึงหัตถศิลป์ในการทำอัญมณีและเครื่องประดับฝีมือคนไทยแล้วไม่แพ้ชาติใดในโลก! ทั้งความวิจิตร ประณีต งานละเอียดจนต่างชาติต้องยกนิ้วให้
ส่วนใครที่อยากรู้เรื่องอัญมณีมากกว่านี้ ไปที่งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
งานแฟร์สุดอลังที่เราจะได้ตามรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และภายในงานยังมีการโชว์เทคโนโลยีในการผลิตอัญมณีทั้งของไทยและต่างประเทศให้เราได้ดูกันด้วย นอกจากนี้ยังมีแฟชั่นโชว์จากดีไซเนอร์ชื่อดัง ใครที่อยากได้อัญมณีเครื่องประดับแบบโบราณตามรอยประวัติศาสตร์ หรืออยากได้เครื่องประดับดีไซน์เก๋เอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวันแบบไม่ต้องมีโอกาสพิเศษ ในงานนี้เขาก็มีจำหน่ายในราคาที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 62 จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-11 กันยายน 2018 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มหกรรมยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ไม่ควรพลาด!