Home > เครื่องประดับแบบดั้งเดิม > เปิดประวัติการเดินทางของศิราภรณ์ดึกดำบรรพ์ สู่เครื่องประดับชั้นสูงของราชสำนักไทย

เปิดประวัติการเดินทางของศิราภรณ์ดึกดำบรรพ์ สู่เครื่องประดับชั้นสูงของราชสำนักไทย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่าสตรีไทยในยุคสมัยต่างๆ นิยมไว้ผมและตกแต่งทรงผมด้วยเครื่องประดับหลายรูปแบบซึ่งทำจากวัสดุหลากหลายชนิด แม้ว่าศิราภรณ์ที่ปรากฏในประติมากรรมสำริด รูปนูนสูงปูนปั้น และจิตรกรรมทั้งหลาย เช่น กิริฎมกุฎ (Kirita-makuta) หรือการัณฑมกุฎ (Karanda mukuta) ของเทวรูปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยศรีวิชัย ลพบุรี และสุโขทัยที่ได้จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ อาจมิได้สะท้อนถึงรูปแบบของเครื่องประดับศีรษะที่ใช้จริงของผู้คนในสังคม แต่ก็ถือเป็นร่องรอยของพัฒนาการเครื่องศิราภรณ์ที่มีอยู่จริงในระยะเวลาต่อมา ในขณะที่ประติมากรรมสังคโลกสมัยสุโขทัยรูปสตรีและบุรุษในอิริยาบถต่างๆ น่าจะเป็นภาพสะท้อนการแต่งกาย ทรงผม และวิถีชีวิตจริงของผู้คนในยุคนั้น

จากการศึกษาตุ๊กตารูปสตรีสังคโลกสมัยสุโขทัยจำนวนหนึ่งพบว่า หญิงชาวเมืองสุโขทัยในเวลานั้นไว้ผมยาว รวบและเกล้ามวยไว้เหนือศีรษะ หรือมุ่นมวยไว้หลังศีรษะ ซึ่งมีทั้งมวยสูงเกือบถึงกระหม่อมและมวยต่ำเกือบถึงท้ายทอย ที่สำคัญคือมีเครื่องประดับศีรษะที่ทำหน้าที่จัดระเบียบเรือนผมลักษณะเป็นวงกลมรอบมวย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพวงดอกไม้สดหรือพวงมาลัย ประติมากรรมบางชิ้น มีการสอดปิ่นขัดมวยไว้ด้วย สอดคล้องกับข้อความในวรรณกรรมเรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่ว่า “...บางคนงามชะอ้อนงอนจริตกิริยาขวยเขิน เกล้ามวยวาดวงพักตร์ดำดังปีกแมลงภู่...”

สำหรับนางพญาหรือสตรีสูงศักดิ์ของสุโขทัยอาจมีเครื่องศิราภรณ์ที่ทำจากวัสดุมีค่าต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องทอง ดังเช่นประติมากรรมสำริดรูปพระอุมาสมัยสุโขทัยซึ่งจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แสดงลักษณะมงกุฎสตรีครอบศีรษะ มียอดแหลม ด้านหลังมีช่องสำหรับสอดมุ่นมวยผมออกมา เป็นเครื่องยืนยันถึงการตกแต่งศีรษะของสตรีสุโขทัยที่ให้ความสำคัญกับเรือนผม

ในบรรดาโบราณวัตถุเครื่องทองคำที่ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา (พ.ศ. 1967-1991) มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็น “พระมาลากรองทอง” ทำจากเส้นทองคำสานเป็นข่าย ประดับด้วยลายพรรณพฤกษา เว้าเป็นรูปวงหน้าและใบหูทั้งสองข้าง และที่สำคัญคือ ด้านหลังของพระมาลาข่ายทองนั้นเว้าเป็นวงเว้นไว้สำหรับมวยผม นับว่าเป็นโบราณวัตถุสำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติ-ศาสตร์ของไทย นอกจากนี้ยังมีศิราภรณ์อีกชิ้นหนึ่งสำหรับใช้ครอบมวยผมกลางกระหม่อมเรียกว่า “สนองเกล้า” ทำด้วยทองคำ มีสาแหรก 4 ก้าน ประดับลายรักร้อยและลายพรรณพฤกษาที่ทำจากเส้นทองขดเป็นกระเปาะฝังอัญมณีและรัตนชาติ บนสุดเป็นดอกดาราประดับมุกดาหารเป็นเม็ดยอด นอกจากพระมาลาและสนองเกล้าแล้วยังมีเครื่องศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ พระมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องราชูปโภค ดังปรากฏข้อความว่า

หม่อมเจ้ารำไพพรรณี(พระยศขณะนั้น) เมื่อเข้าพิธีเกศากันต์ทรงพระเกี้ยวและเครื่องประดับเต็มยศ, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงสวมเครื่องประดับศีรษะที่เรียกว่า Bandeau และทรงผ้าซิ่นตามพระราชนิยม

สุภาพสตรีในสมัยรัชกาลที่ 6 นิยมสวมเครื่องประดับศีรษะเป็นแถบคาดหน้าผากหรือสายสร้อยคาดผม ตามแฟชั่นในเวลานั้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชาทรงเครื่องประดับสไตล์ Bandeauซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 6

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้คู่กับผ้าซิ่นทรงเครื่องประดับแบบตะวันตก เช่น โช้กเกอร์และเข็มกลัดรูปโบ พระ-เกศาประดับเครื่องเพชรแบบเจ้านายฝ่ายเหนือ

พระมหามงกุฎ หมายถึงเครื่องประดับศีรษะที่ในชั้นต้น คงเป็นทรงเตี้ย แล้วค่อยเรียวแหลมขึ้นดังปรากฏในปัจจุบัน พระมหามงกุฎประกอบด้วยมงกุฎทรงกรวยสำหรับครอบมวยและกะบังหน้า ซึ่งเดิมเป็นเครื่องคาดพระเศียรแล้วรวบผูกไว้ท้ายทอย ต่อมาจึงทำเป็นวงสวมลงและทำเชื่อมติดเข้ากับมงกุฎเป็นชิ้นเดียวกัน

เทริด คือรูปแบบศิราภรณ์ที่ปรากฏเป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูปทรงเครื่องในช่วงครึ่งหลังของสมัยอยุธยา และที่นักแสดงโนราใช้ใส่ในการแสดงในปัจจุบัน

เศียรเพศ หรือศรีเภท มาจากคำภาษาเปอร์เซียว่า “สะระเพส” หรือ “สีรเพส” หมายถึงเครื่องประดับศีรษะที่ทำเป็นช่อ

เกี้ยว แปลตามศัพท์ว่า ผูก หรือมัด หมายถึงเครื่องรัดมวยผมที่เกล้าไว้ จึงมักเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่ารัดเกล้า ซึ่งเดิมคือมาลัยดอกไม้ ต่อมาจึงประดิษฐ์ด้วยเครื่องโลหะมีค่าประดับอัญมณีตามฐานานุศักดิ์ของผู้สวมใส่เกี้ยวมีหลายชนิด ทั้งเกี้ยวธรรมดาและเกี้ยวดอกไม้ไหว

ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ระเบียบแบบแผนในการแต่งกายและการใช้ศิราภรณ์ยังคงรักษารูปแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงตราพระราชบัญญัติห้ามบุตรหลานขุนนางข้าราชการแต่งกายเกินฐานะไว้ด้วย ส่วนการใช้เครื่องศิราภรณ์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายตามราชประเพณียังปรากฏต่อเนื่องมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพระราชพิธีแบบโบราณที่ถือปฏิบัติในแต่ละรัชกาล เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล พระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระราชพิธีโสกันต์ และเกศากันต์สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาที่มีพระอิสริยยศตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าจนถึงชั้นพระองค์เจ้า ซึ่งเจ้านายที่เข้าพระราชพิธีจะต้องแต่งเครื่องทรงอย่างโบราณ ทรงศิราภรณ์ตามพระอิสริยยศและลำดับขั้นตอนของพระราชพิธี

สำหรับเครื่องศิราภรณ์ของพระมเหสีเทวี เจ้านาย และข้าราชบริพารฝ่ายในคงมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยดังปรากฏภาพถ่ายเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าคุณจอมมารดาและเจ้าจอมมารดาหลายองค์แต่งกายแบบสตรียุโรป แต่สวมกะบังหน้าอย่างไทยในคราวต้อนรับลอร์ด John Hay ผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษประจำมหาสมุทรอินเดีย เมื่อมาเยือนกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2405 แม้การแต่งกายของข้าราชการฝ่ายในที่ปรากฏในภาพถ่ายดังกล่าวอาจไม่ใช่รูปแบบการแต่งกายตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติอยู่ขณะนั้น แต่ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการปรับประยุกต์และความคลี่คลายของโบราณราชประเพณีเรื่องการแต่งกายและเครื่องศิราภรณ์ในเวลาต่อมา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระรูปคู่กับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาซึ่งทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ ทรงเครื่องประดับและศิราภรณ์แบบเต็มยศอย่างตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราโชบายเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ การใช้เครื่องศิราภรณ์และเครื่องประดับพระเศียรก็มีการอนุวัตไปตามความนิยมของตะวันตกพร้อมๆ กับการปรับประยุกต์เรื่องการแต่งพระองค์และการแต่งกายของสตรีเป็นแบบกึ่งตะวันตก กล่าวคือ เจ้านายฝ่ายในและสตรีส่วนใหญ่ยังคงทรงพระภูษาหรือนุ่งผ้าโจงกระเบนแต่ทรงฉลองพระองค์หรือสวมเสื้อแบบตะวันตก ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซื้อศิราภรณ์แบบตะวันตกหลายองค์พระราชทานแก่พระมเหสีเทวี พระราชธิดา และข้าราชบริพารฝ่ายในด้วย เช่น Fringe Tiara ที่ได้แบบอย่างมาจาก Kokoshnik ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะของสตรีชาวรัสเซีย เรียกกันทั่วไปอีก ชื่อหนึ่งว่า Russian Tiara ที่ปรับใช้เป็นสร้อยพระศอได้อีกแบบหนึ่ง ทั้งยังทรงให้ช่างเครื่องเพชรชาวตะวันตกออกแบบเครื่องประดับพระองค์และศิราภรณ์พระราชทานแก่เจ้านายฝ่ายในด้วย ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าเจ้านายฝ่ายในส่วนใหญ่ทรงหันมาแต่งพระองค์อย่างตะวันตกกันเต็มรูปแบบแล้ว ในการแต่งพระองค์ออกงานอย่างเต็มยศก็มีการใช้ศิราภรณ์แบบตะวันตกที่นิยมในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bandeau Tiara หรือศิราภรณ์ที่ทำเป็นแถบประดับเพชรหรืออัญมณี นิยมใช้คาดที่หน้าผาก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดพระนลาฏด้วยเทียร่าทรงคลาสสิกแบบรัสเซีย หรือ Kokoshnik Tiara เป็นFringe Tiara ที่มีแฉกรัศมีแบบดวงอาทิตย์ สามารถสวมเป็นสร้อยคอได้ อันเป็นแฟชั่นสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

,สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา-พัณณวดีทรงฉลองพระองค์ราตรีแบบตะวันตกและศิราภรณ์ประดับเพชร, สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัย-ลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงพระเกี้ยวประดับเพชรและปักปิ่นประดับเพชร

พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระนางเธอในรัชกาลที่ 6ทรงคาดพระนลาฏด้วยเทียร่าประดับมุกและเพชร

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรื้อฟื้นเครื่องแต่งอย่างไทยและออกแบบไว้เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการพระราชพิธี และวาระโอกาสต่างๆ ทรงนำเครื่องศิราภรณ์แบบโบราณหลายองค์กลับมาใช้ ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและปรับประยุกต์ให้เข้ากับฉลองพระองค์แบบต่างๆ และวาระโอกาสนั้นๆ นอกจากนี้ยังทรงนำเอารูปแบบของเกี้ยวพระเมาลีซึ่งเป็นศิราภรณ์โบราณให้ช่างชาวตะวันตกออกแบบเป็นศิราภรณ์ร่วมสมัยเหมาะสมกับฉลองพระองค์ด้วย

ยังมีเครื่องสวมศีรษะแบบโบราณอีกอย่างหนึ่งสำหรับขุนนางสวมในการพระราชพิธีหรือเข้าเฝ้าฯพระมหากษัตริย์ เรียกว่า ลอมพอก ลักษณะคล้ายผ้าโพกหัวทำจากผ้ามัสลินหรือผ้าฝ้ายพันซ้อนทับบนโครงไม้ไผ่สานทรงเรียว แหลม รูปแบบลอมพอกมีลดหลั่นไปตามชั้นยศ มีลอมพอกพันโหมดขาวเกี้ยวทองคำลงยาประดับดอกไม้ไหว ลอมพอกขาวเกี้ยวปิดทองคำมีดอกไม้ไหว ลอมพอกสีชมพู เกี้ยวปิดทองคำเปลว และลอมพอกแดงหางเหยี่ยวเกี้ยวปิดทองคำเปลว เป็นต้น

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงสะพักกรองทอง ทรงมงกุฎทับทิมองค์น้อย ซึ่งเดิมเป็นพระราชสมบัติในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ 6

การสวมลอมพอกของขุนนางชั้นสูงในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์มีปรากฏเป็นหลักฐานภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียน และบันทึกของชาวต่างชาติร่วมยุคสมัยที่มีโอกาสได้พบเห็น เช่น ภาพเหมือนเจ้าพระยาโกษา (ปาน) เอกอัครราชทูตไทยในสมัยอยุธยาที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 วาดโดยจิตรกรชาวเยอรมันที่พำนักในฝรั่งเศส Jean Hainzelman ขณะที่ท่านเจ้าพระยาเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้น หรือที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายเหตุพระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งกำหนดให้เจ้าพนักงานนำริ้วกระบวนแห่ “แต่งตัวนุ่งสนับเพลา นุ่งสังเวียนขวา สรวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สรวมครุยขาวปักทองต้นแขนปลายแขนสำรด สรวมลอมพอกขาวเกี้ยวทอง เวลาลงสรงแล้วเปลี่ยน นุ่งสังเวียนต่างสี สรวมเสื้อครุยสีชมภู ลอมพอกสีชมภู” ในปัจจุบันนี้ลอมพอกก็ยังคงมีปรากฏใช้อยู่ในการแต่งกายของพระยาแรกนาในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

Leave a Comment