Home > เครื่องประดับระดับไฮเอนด์ > การออกแบบเครื่องประดับอัญมณีคือผลแห่งความสุข

การออกแบบเครื่องประดับอัญมณีคือผลแห่งความสุข

เสื้อคลุมแบบชาวเหนือตัดเย็บด้วยผ้าใยกัญชง สีน้ำเงินเข้มปักลายสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สีชมพูระบายรอบตัวเสื้อ แลดูกลมกลืนเข้าชุดกับตุ้มหูมุกและแหวนเพชรล้อมที่นิ้วนางข้างซ้าย แปลกที่สไตล์การแต่งตัวอันเรียบง่ายสวมเครื่องประดับเพียงน้อยชิ้นกลับ ช่วยขับให้บุคลิกของ สุวลักษณ์ มหันตคุณ นักออกแบบเครื่องประดับและนักอัญมณีศาสตร์ กลับดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เจ้าของเรือนร่างระหงเกินมาตรฐานหญิงไทยออกตัวว่า ต้องใส่บ้างเพื่อเป็นโมเดลให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบในการออกแบบเครื่องประดับอัญมณีคอลเลกชั่นต่าง ๆ ของเธอ ซึ่งทุกชิ้นล้วนแล้วแต่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ” ดีไซเนอร์ที่เก่งที่สุดของเธอ

“การก้าวเข้ามามีอาชีพนักออกแบบเครื่องประดับและนักอัญมณีศาสตร์ของดิฉันเริ่มต้นที่ครอบครัวทำธุรกิจ นําเข้า คอสตูม จิวเวลรี จากประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ 5 แบรนด์ แต่ละแบรนด์อยู่ในระดับไฮเอนด์เป็นที่นิยมของผู้มีอันจะกินหลายสิบประเทศทั่วโลก ในเมื่อเราเป็นเอเย่นต์ หน้าที่หลักคือต้องเป็นคนเลือกของมาขายโดยอาศัยการเดารสนิยมของลูกค้าที่เรามีอยู่ ทุก ๆ วันของชีวิตจึงคลุกคลีอยู่กับเครื่องประดับและอัญมณีมีค่า ระหว่างนั้นก็ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขมากเมื่ออยู่กับของพวกนี้ แต่เป็นคนที่ไม่ต้องรสนิยมกับจิวเวลรีพวกโลหะสักเท่าไหร่ ชอบอะไรที่มันเป็นธรรมชาติ ประเภทหินสี ลูกปัด ซึ่งเมื่อ 26 ปีที่แล้วพูดได้ว่าดิฉันเป็นเจ้าแรกของเมืองไทยที่นําเข้าลูกปัดและหินสีจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองทางด้านการออกแบบตามไปด้วย

หลายปีต่อมากลุ่มลูกค้าก็โตขึ้นกลุ่มไม่ใหญ่แต่เหนียวแน่น เป็นผลให้ต้องเริ่มจับอัญมณีที่มีค่ามากขึ้น วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือนก็เปลี่ยนเป็นทองคำขาว ทอง 18 เค ทองโรสโกลด์ หรือทอง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดเกาะอัญมณีและขึ้นรูปเป็นตัวเรือนได้อย่างสวยงาม คงทน ด้วยแรงเชียร์ของลูกค้าจึงตัดสินใจเปิดร้านขึ้นมา อีกแห่งหนึ่ง ทีนี้ก็ต้องกลับไปทำการบ้านต่ออีกว่าถ้าเลือกใช้รัตนชาติที่มีค่ามากขึ้นเราควรจะต้องรู้จริง สาระสำคัญ คือต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองและลูกค้าที่วางใจมาเสียสตางค์ซื้อเครื่องประดับไปจากร้านเรา เลยตัดสินใจไปเรียนกระทั่งจบหลักสูตรอัญมณีศาสตร์ (Gemologist) จาก Gemological Institute of America (GIA), Santa Monica, USA, Revere Academy of Jewelry Arts, San Francisco, USA และ Jewelers of America Incorporation, USA ทั้งสามหลักสูตรครอบคลุมทุกเนื้อหาเกี่ยวกับการ ออกแบบเครื่องประดับ เริ่มตั้งแต่การวาดซึ่งเป็นอุปกรณ์หนึ่งในการสื่อสารความคิดจากสมองเรามาเป็นรูปภาพ ส่วนการดีไซน์เป็นเรื่องของศิลปะ บางคนจำเป็นต้องเรียน บางคนสามารถลัดขั้นตอนได้เพราะมีพรสวรรค์อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลาเจ้าตัวจะสามารถดึงเอาตรงส่วนนั้นมาใช้ได้เอง ดิฉันเองทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด รู้ก็ต้องรู้ ให้ถึงที่สุดจึงตัดสินใจไปเรียนวิชาช่างทองเพิ่มเติมอีกจนจบหลักสูตร ซึ่งสำคัญมากสำหรับนักออกแบบเครื่องประดับอัญมณีเพราะทำให้แบบของเรามีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เวลาที่เราสื่อสารกับช่างที่ทำตัวเรือน ในทางปฏิบัติช่างอาจชํานาญกว่า ส่วนทางทฤษฎีเราช่วยเขาได้

โดยส่วนตัวแล้วเครื่องประดับที่ทำออกมาทุกชิ้น เขาถ่ายทอดความรู้สึกดีงามและความสุขของดิฉันลงไปหมด ทุกขั้นทุกตอนจึงพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกอัญมณี โดยนึกถึงบุคลิกของลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก ประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ทำให้ดิฉันสามารถมองออกว่าเมื่อชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์แล้วกลุ่มลูกค้าคนไหนของเราน่าจะชอบ

ส่วนเรื่องของการคัดสรรวัตถุดิบ ดิฉันจะเลือกโดยที่จะยังไม่นึกถึงการออกแบบ อะไรที่สวย สะดุดตา คุณภาพดี มีความพิเศษในตัวก็จะเลือกไว้ก่อน ถึงแม้รูปทรงจะไม่เพอร์เฟกต์ แต่เขาก็มีความสวยงามเฉพาะตัวไม่แพ้ ชิ้นที่สมบูรณ์ได้มาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำคอลเลกชั่นมุกเคชิแฝดลูกค้าชอบมาก เพราะด้วย คุณสมบัติตามธรรมชาติของมุกชนิดนี้ผิวจะเนียนแวววาว สวยงาม เพราะฉะนั้นตราบใดที่ไม่มีวัตถุดิบดิฉันจะ ไม่ลงมือเขียนแบบ มีคนถามว่าแล้วแรงบันดาลใจเกิดมาจากไหน ส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะเด่นของอัญมณีนั้น ๆ ซึ่งมีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ระยะเวลาในการก่อตัว สถานที่เกิด ฯลฯ บางครั้งดิฉัน จะนั่งมองเขานาน เหมือนเขาจะบอกกับเราได้ว่า เขานั้นเหมาะที่จะทำเป็นเข็มกลัด ตุ้มหู แหวน สร้อยคอ ฯลฯ ลูกค้าจะรู้เลยว่าอัญมณีหรือเครื่องประดับที่ดิฉันออกแบบ ทุกชิ้นเป็นมาสเตอร์พีซ แบบเดียวชิ้นเดียว ชิ้นไม่ใหญ่ เน้นความเท่ โก้เก๋ แข็งแรง ทนทาน ฟังก์ชั่นต้องใส่ได้จริง ใช้ได้จริง เพราะเครื่องประดับโดยเฉพาะพวกไฟน์จิวเวลรี มันไม่ใช่ของที่ราคาน้อย ๆ เมื่อเวลาที่ลูกค้าซื้อไปแล้วก็หวังให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเป็นเวลานาน ทุกครั้งที่หยิบมาสวมใส่ ควรจะมีความสุข ฉะนั้นแล้วจะไม่แฮปปี้เลยถ้ามีลูกค้าต่างชาติมาซื้อเพราะเราจะไม่เห็นเขาอีกเลย แต่ถ้าขายให้คนไทยจะมีความสุขมาก ดิฉันอาจจะต่างจากนักออกแบบคนอื่นตรงที่รู้สึกกับเครื่องประดับทุกชิ้นจากฝีมือเราเหมือนลูก ลูกค้ามักหัวเราะดิฉันเสมอเมื่อเวลาพูดกับเขาว่า ซื้อไปแล้วว่าง ๆ ก็พามาให้ดูหน่อยนะคะคิดถึงเขา

เครื่องประดับหรืออัญมณีมีค่าเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งทางความรู้สึกของผู้สวมใส่ แต่สำหรับนักอัญมณีศาสตร์ รัตนชาติทุกชนิดมีความสวยงามโดดเด่นสะดุดตาที่แตกต่างกันออกไป ทุกชิ้นของการออกแบบคือความท้าทายที่เดิมพันด้วยความสุข ความพึงพอใจของลูกค้าที่ตัดสินใจเลือกไว้ในครอบครองอย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน

Leave a Comment