Home > เครื่องประดับแบบดั้งเดิม > ทำความรู้จักท้องถิ่นทั่วไทยไปกับ ‘เด็กต่างจังหวัด’ เพจคลายเหงาของเหล่าคนคิดถึงบ้าน

ทำความรู้จักท้องถิ่นทั่วไทยไปกับ ‘เด็กต่างจังหวัด’ เพจคลายเหงาของเหล่าคนคิดถึงบ้าน

ใครที่เคยแวะไปสงขลา คงคุ้นหน้าคุ้นตาร้านค้าเก่าแก่กลางย่านเมืองเก่า อาทิ ฮับเซ่ง เต้าหู้ยี้เสวย แต้เฮี้ยงอิ้ว หรือซาลาเปาเกียดฟั่ง แต่เมื่อครั้งที่ความดั้งเดิมถูกท้าทายด้วยกาลเวลา ก็อาจถึงคราที่ร้านรวงอันมีเอกลักษณ์ต้องปรับตัวเพื่อให้เดินต่อและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นำมาซึ่ง ‘Made in Songkhla’ โครงการที่ 12 ร้านค้าย่านเมืองเก่า ร่วมหยิบ จับ ปรับ ผสม ลองผิดลองถูกกับ 9 นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดีโฉมใหม่ที่ใช้การออกแบบช่วยแก้ปัญหา ขยายฐานลูกค้าให้กว้างกว่าที่เคย ทั้งยังสื่อสารอย่างภูมิใจว่าทั้งหมดนี้ ‘เราทำที่สงขลา’

การจับมือของ 12 ร้านเก่าแก่กับ 9 นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ CEA และ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจดั้งเดิม นำเสนอของดีประจำย่าน ตั้งแต่ร้านเจ้าแรก ร้านหนึ่งเดียว ร้านต้นตำรับ จนถึงร้านที่ไม่มีทายาทสืบทอด เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันมากขึ้น โดยผู้ที่มาเยี่ยมชมจะได้พบกับสินค้านานาชนิด ตั้งแต่อาหาร ขนมหวาน เครื่องปรุง เครื่องดื่ม สมุนไพรไทยจีน ไปจนถึงงานปักและงานพิมพ์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีกลิ่นอายความเป็นสงขลาที่ตกทอดผ่านยุคสมัย ในรูปลักษณ์สินค้าที่น่ากิน น่าใช้ ใกล้ตัว และทุกคนเข้าถึงได้

และในวันที่ 18 – 19 ธันวาคมนี้ เหล่าผลิตภัณฑ์ใหม่จากทั้ง 12 ร้านดั้งเดิมจะแนะนำตัวให้ทุกคนได้รู้จักเป็นครั้งแรก ผ่านนิทรรศการขนาดเล็กเล่าความเป็นมาของ Made in Songkhla วงสนทนา Family Talk บอกเบื้องหลังการรังสรรค์สินค้าน่ากินน่าใช้จากปากเจ้าของร้านและนักออกแบบตัวจริง ก่อนปิดท้ายด้วย Friends of Made in Songkhla ร้านรุ่นใหม่ที่มาร่วมสร้างสรรค์เมนูแสนอร่อย เรียกว่ามางานนี้ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้สินค้าติดมือ แถมได้ความรู้ติดตัวอีกต่างหาก

แต่ถ้าใครมาไม่ทัน 2 วันนี้ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะร้านรวงทั้ง 12 จะยังคงจำหน่ายสินค้าใหม่ในโครงการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากใครแวะไปสงขลาหลังจากนี้ ก็เข้าไปเลือกสรรผลิตภัณฑ์สงขลาที่ทำในสงขลากันได้เต็มที่ ใครจะรู้ คุณอาจได้ของที่ระลึกดี ๆ กลับไปฝากคนที่คุณรักก็เป็นได้

01

โรงพิมพ์ทวีทรัพย์ X SoulSouth Studio

รวมไอเท็มสุดชิคจากโรงพิมพ์ยุคเปลี่ยนผ่าน

แม้จะมีที่ตั้งติดถนนและผู้คนที่แวะผ่านจะคอยทักทาย ต่อ-ต่อศักดิ์ จตุรพร เจ้าของโรงพิมพ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่โรงพิมพ์ทวีทรัพย์กลับเป็นหนึ่งในธุรกิจตกหล่นจากการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าสงขลา ทั้งที่สถานที่แห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักดีของลูกค้าขาประจำ ในฐานะโรงพิมพ์ที่ทำงานได้ตามต้องการ ตั้งแต่งานพิมพ์แบบฟอร์ม ใบกำกับรับเงิน ใบส่งรับของ นามบัตร ไปจนถึงแผ่นพับนานาประเภท

ระยะเวลากว่า 30 ปี ทำให้ที่นี่ก้าวผ่านช่วงรอยต่อของธุรกิจการพิมพ์จากยุคแอนะล็อคแบบเรียงพิมพ์สู่ยุคดิจิทัล การจับมือร่วมกับ SoulSouth Studio สตูดิโอออกแบบกราฟิกจากยะลา จึงนับเป็นการเติมช่องว่างระหว่างเทคนิคการพิมพ์แบบเก่ากับการออกแบบจากคนรุ่นใหม่ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่วินเทจและทันสมัยที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งสมุด ปฏิทิน โปสการ์ด และสติกเกอร์

“เราคิดไว้หลายไอเดียมากก่อนลงพื้นที่ แต่พอได้ไปจริง ๆ เราก็ได้รู้ข้อจำกัดต่าง ๆ และได้เห็นเอกลักษณ์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองมาก ๆ ของโรงพิมพ์ทวีทรัพย์ แทนที่จะเอาความคิดของเราไปใส่อย่างเดียว เราก็เลยเปลี่ยนเป็นออกแบบจากสิ่งที่เขามี สังเกตว่าอะไรที่ใช้พัฒนาต่อได้ แล้วพยายามต่อยอดโดยเพิ่มการออกแบบเข้าไป จนได้ผลิตภัณฑ์และแบรนดิ้งที่เหมาะกับเขา” อับดุลกะริม ปัตนกุล นักออกแบบแห่ง SoulSouth Studio เล่าใหัฟังถึงที่มาการออกแบบสินค้าวินเทจให้โรงพิมพ์

“เราเลือกใช้ฟอนต์ Helvetica ซึ่งเป็นฟอนต์ที่อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างยุคแอนะล็อกกับดิจิทัล ตรงกับประวัติความเป็นมาของโรงพิมพ์พอดี คอนเซ็ปต์นี้น่าจะเข้ากับพี่ต่อเจ้าของร้าน จากนั้นก็เพิ่มสี CMYK เข้าไปเพื่อให้ภาพที่ออกมามีความทับซ้อนของยุคสมัยมากขึ้น และสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือวัสดุที่ใช้ต้องไม่เพิ่มต้นทุนของเจ้าของกิจการมากนัก เราเอากระดาษสีที่เขามีมาปรับใช้เพื่อทำสมุดกับปฏิทิน ทดลองใช้กระดาษคราฟต์มาพิมพ์แบบต่าง ๆ จนได้งานที่ความหลากหลาย”

ใครไปสงขลาก็แวะเลือกสรรกันได้เต็มที่ เพราะนี่อาจเป็นไอเท็มเสริมดวงช่วงปีใหม่ให้ผู้ใช้มีทรัพย์ไหลมาเทมา

โรงพิมพ์ทวีทรัพย์

ที่ตั้ง : 282 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 08 0617 9805

02

จงดี X YALA ICON

ขนมทองเอก ที่ปลุกเสกด้วยแพ็กเกจจิ้งทรงสวย

ที่หน้าร้านจงดี ถนนหนองจิก มีขนมที่โดดเด่นวางเรียงราย 3 ชนิด ได้แก่ ทองเอก สัมปันนี และขี้มอด แม้จะขึ้นชื่อเรื่องรสชาติต้นตำรับอันเย้ายวน โดยเฉพาะขนมทองเอก แต่ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะดุดตาหรือแตกต่างจากร้านอื่น จึงทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนมากมายเดินผ่านจงดีไปโดยไม่มีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อย

ทองเอกสีส้มสดที่ทุกกระทะกวนด้วยหนึ่งคนพาย ลงน้ำหนักอย่างเป็นจังหวะ สัมปันนีกลิ่นน้ำกะทิที่ถูกผึ่งแดดธรรมชาติจนหอมกรุ่น กรอบนอกนุ่มในไม่มีใครเหมือน รวมถึงขี้มอดที่ใช้มะพร้าวแบบไม่คั้นกะทิผสมแป้งข้าวเจ้า เกลือ น้ำตาลทรายแดง และไข่เป็ดคนเป็นเนื้อเดียว คือต้นตำรับจาก คุณแม่จงดี อ่องไพบูลย์ ผู้พัฒนาดัดแปลงสูตรขนมด้วยตนเอง ก่อนส่งต่อสู่รุ่นลูกอย่าง นุช-อนุษฐา อ่องไพบูลย์

แม้ขนมจะรสชาติอร่อย ใครชิมก็ติดใจ แต่ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่แตกต่าง ใช้เวลานานในการบรรจุ ทั้งยังไม่สะดวกในการขนส่ง เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจาก YALA ICON จึงเข้ามาช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ร่วมกับทางร้านจนลงตัว ได้บรรจุภัณฑ์โฉมใหม่ที่นำขนมดังทั้ง 3 ชนิด ใส่ในกล่องพลาสติกที่ทางร้านใช้อยู่แล้ว ส่วนทองเอกเปลี่ยนเป็นการโชว์เนื้อขนมพร้อมแถบคาด บอกเล่าตั้งแต่ชื่อวัตถุดิบสำคัญจนถึงเคล็ดลับหลังครัว เพิ่มมูลค่าให้ขนมมีเรื่องราว แถมจัดเรียงเป็นเซ็ต ส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

“ความเป็นจงดีที่เรานึกถึงคือภาพของขนมที่แม้จะโบราณ แต่ก็มีเอกลักษณ์ เราจึงสร้างสรรค์ออกมาเป็นแพ็กเกจจิ้งที่ผู้ประกอบการยังคุ้นมือ แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งได้ เราดึงส่วนผสมของขนมมาใช้ในการออกแบบ และสุดท้ายจึงเลือกใช้สีสันที่อบอุ่นเหมาะกับร้าน” เอกรัตน์เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ก่อนทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ทุกคนลองชิมขนมของจงดีที่เป็นงานทำมือทุกขั้นตอน แถมยังไม่ลืมที่จะซุกซ่อนความเป็นชุมชนสงขลาลงในทุกคำของขนม

บ้านจงดี ขนมไทยสงขลา

ที่ตั้ง : 11 ถ.หนองจิก ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 08 9464 8919

03

เกียดฟั่ง X YALA ICON

ซาลาเปาสตูว์ไก่ ลูกใหญ่ ไส้แน่น แห่งแดนสงขลา

เกียดฟั่ง ในภาษาจีนไหหลำแปลว่า กลิ่นหอมสะอาด ไม่ต่างอะไรกับบรรยากาศความอร่อยยามเช้าที่เหล่านักชิมต้องมาต่อแถวเรียงราย จนที่นี่กลายเป็นแลนมาร์กสำคัญของถนนนางงาม จังหวัดสงขลา

ร้านเกียดฝั่งถูกส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ซึ่งเคยเป็นพ่อครัวในเรือฝรั่ง จนได้สูตรสตูว์พิเศษซึ่งใช้กระดูกหมูต้มกับเครื่องเทศผสมหางกะทิแทนเนย จนได้น้ำซุปเข้มข้นหอมมัน ตกทอดสู่รุ่นคุณพ่อ ก่อนจะเป็นรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน อันได้แก่ หล่าน-ธนธร ศิริคติธรรม และ เจิน-ปทุมรัตน์ ศิริคติธรรม

นอกจากสตูว์รสเด็ดแล้ว อีกหนึ่งจุดขายสำคัญของที่นี่คงหนีไม่พ้นซาลาเปา ที่ขายดีจนต้องมีป้ายบอกลูกค้าที่มารอว่า ‘ซาลาเปาสุกแล้ว’ เป็นสัญญาณให้เริ่มสั่งไปทานที่บ้านได้

“ยากและกดดันมาก เพราะที่นี่เป็นร้านตำนานของสงขลา แต่ทางเจ้าของร้านก็น่ารักและเป็นกันเองมาก เรามีโอกาสลองทำซาลาเปาไส้ใหม่ด้วยกัน”

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจาก YALA ICON เล่าประสบการณ์ในวันที่ได้สร้างสรรค์งานอาร์ตสุดโดนใจ ตั้งแต่ป้ายหน้าร้าน ชุดพนักงาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับร้านคิดค้นซาลาเปาไส้ใหม่ที่มีรสชาติไม่เหมือนใคร อย่างรสสตูว์ไก่และรสหม้อฉี

“เราอยากทำไส้หวานและไส้เค็มอย่างละไส้ แต่สิ่งสำคัญคือไส้ใหม่ต้องทำไม่ยาก ไม่เพิ่มภาระให้เจ้าของร้าน เป็นอาหารเช้าที่ทำได้ไว กินได้เร็ว และต้องมีความเป็นสงขลาด้วย

“ขนมชนิดหนึ่งที่อยู่คู่สงขลามานานและเราชอบมาก ๆ คือขนมหม้อฉี ซึ่งใช้แค่ถั่ว งา และน้ำตาลโตนด เราว่านี่แหละเหมาะจะเป็นซาลาเปาไส้หวาน ความเก่าแก่ของขนมชนิดนี้และร้านเกียดฟั่งก็มีความเชื่อมโยงกัน ก็เลยกลายเป็นไส้หม้อฉีในที่สุด ส่วนอีกไส้คือสตูว์ไก่ สตูเป็นอาหารประจำของเกียดฟั่งอยู่แล้ว เราเลยคิดว่า นี่น่าจะเป็นไส้ที่ง่ายสำหรับเขา แถมยังเป็นการเอาสองเมนูดังมารวมไว้ในคำเดียวด้วย”

เอาล่ะ แค่ฟังก็น้ำลายสอ อยากขอซาลาเปามากินสักลูกแล้ว!

เกียดฟั่ง

ที่ตั้ง : 120 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 1998

04

สุภาภรณ์ X 56thStudio

งานปักชิ้นน้อย ที่โดดเด่นเกินร้อยด้วยการคิดนอกกรอบ

ร้านสุภาภรณ์ถือเป็นร้านจำหน่ายงานปัก ตรา อาร์ม ยศ แบบครบจบในที่เดียว และเป็นร้านแห่งเดียวที่ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา จนชาวประชาจะนึกถึงเป็นร้านแรกเสมอเมื่อต้องการงานปัก จึงไม่แปลกที่หลายคนจะรักและผูกพันกับที่นี่มาเป็นสิบปีตั้งแต่เปิดร้านใหม่ ๆ จนถึงวันนี้ที่มีรุ่นหลานอย่าง น้ำ-ศจีรัตน์ ยานนท์ ดูแลกิจการต่อจากคุณป้า สุภาภรณ์ กาละดิเรก

“มันน่าจะดีกว่า ถ้าเราชวนให้คนทั่วไปลองใช้อาร์มพวกนี้ เพื่อตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น”

ความสนุกในการความร่วมมือระหว่างสุภาภรณ์ และ ศรัณย์ เย็นปัญญา แห่ง 56thStudio คือการทำอาร์มเท่ ๆ ที่เล่นกับขั้วตรงข้าม หยิบของที่แทบไม่เข้ากันให้ดูเข้ากันภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘คิด วิเคราะห์ แยกแยะ’ ที่ต้องการสื่อสารกับการอยู่ ในกรอบ และตั้งคำถามถึงภาพจำของสงขลาว่าควรจะเปลี่ยนแปลงหรือไปต่ออย่างไร หากไม่ได้ถูกล้อมกรอบไว้ด้วยภาพจำแบบเก่า สอดคล้องกับที่อัลแบร์ กามู นักปรัชญาเคยกล่าวไว้ว่า “Autumn is a second spring when every leaf is a flower.” ซึ่งหมายถึง ฤดูใบไม้ร่วงนั้นเปรียบได้กับฤดูใบไม้ผลิหนที่สอง เมื่อใบไม้ทุกใบต่างเบ่งบานทดแทนดอกไม้ การคงไว้ด้วยสินทรัพย์เดิมที่ไม่ถูกต่อยอดจึงไม่ต่างจากการแช่แข็งเมืองให้อยู่กับที่

“ตลอดการทำงาน เราประทับใจตัวเมืองกับตัวคนมาก ๆ สงขลากำลังรอสิ่งใหม่ ๆ มาเติมเต็ม ทุกวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ เราว่าถึงเวลาแล้วที่สงขลาจะสลัดภาพจำเก่า ๆ เก็บบางสิ่งบางอย่าง พร้อมกับต่อเติมให้เห็นความใหม่และหลากหลาย” ศรัณย์ทิ้งท้าย

สุภาภรณ์

ที่ตั้ง : 212 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 09 3650 5329

05

ขนมไข่ป้ามล X Southson Design

แวะถูกจุด อร่อยถูกใจกับขนมไข่ป้ามล

เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ขนมไข่เตาถ่านอุ่น ๆ หอมกรุ่นด้วยกลิ่นมาการีนบนรถเข็นคันเก่งอยู่เคียงคู่ชาวสงขลา กระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมา ขนมไข่ป้ามลต้องย้ายจุดขายใหม่มาอยู่ที่ถนนพัทลุง จึงทำให้ลูกค้าหาร้านไม่เจอ บ้างโทรสั่งแต่ไม่มารับ อีกทั้งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักท่องเที่ยว

จากโจทย์ที่ความยากไม่ใช่เรื่องของรสชาติ แต่เป็นการหลงทิศทางของลูกค้าและการไม่อยู่ในสายตาของผู้ที่แวะมาเยี่ยมชม กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่แห่ง Southson Design จึงอาสาแปลงโฉมรถเข็นคันเดิมด้วยการเพิ่มจุดจดจำ ใส่กิมมิกสีธนาคารอันเป็นที่ตั้งแห่งแรกของร้าน เสริมแพตเทิร์นยุค 60 แบบเรโทรเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน พร้อมบรรจุภัณฑ์ทางเลือกแบบถุงกระดาษสกรีนลายป้ามล และไม้จิ้มที่ให้ความอิ่มกำลังดี

“ขนมไข่ป้ามลเป็นร้านคู่จังหวัด คนในสงขลาชอบกินมาก แต่คนนอกไม่ค่อยรู้จัก เพราะป้ามลไม่ได้มีสื่อหรืออะไรช่วยโปรโมต โจทย์ที่ได้คือให้เราปรับอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ร้านอยู่รอด เพราะยอดขายช่วงโควิดของร้านก็ลดลง สงขลาช่วงโควิดคือเงียบมาก” กัณห์ ไตรจันทร์ นักออกแบบจาก Southson Design ย้อนแรงบันดาลใจที่อยากพลิกโฉมร้านป้ามลใหม่ให้ถูกตาต้องใจ รักษาฐานลูกค้ารุ่นเก๋าและดึงดูดเหล่าลูกค้ากลุ่มใหม่ได้มากขึ้น

“เราใช้การตกแต่งหน้าร้าน ดึงความเป็นป้ามลออกมา แกน่ารักมาก อายุเจ็ดสิบแล้ว แต่ก็ยังมีความเปรี้ยว ๆ สดใส นึกถึงความวินเทจ จนได้เป็นรถเข็นและแพ็กเกจจิ้งอย่างที่เห็น”

ขนมไข่ป้ามล

ที่ตั้ง : 122 ถ.พัทลุง ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 08 6695 3339

06

เต้าหู้ยี้เสวย X Southson Design

เต้าหู้ยี้…อร่อยไม่ต้องร้องยี้

โรงผลิตเต้าหู้ยี้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ของ ส้าย สุมังคละ ที่ครั้งหนึ่งเคยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาส ‘เสวย’ ประจวบเหมาะจึงนำมาตั้งเป็นชื่อร้านว่า ‘เต้าหู้ยี้เสวย’

จากบ้านที่เป็นโรงหมักตั้งแต่รุ่นคุณทวด ซึ่งใช้วัตถุดิบถั่วเหลืองแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ วิธีการต้ม บด บีบอัดแบบธรรมชาติ หมักดองเกลือในโอ่งด้วยแสงแดดราว 4 – 5 เดือน ส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 5 โดย รชต อุตตโรพร ผู้ที่นำกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์เข้ามาปรับปรุงการผลิต เพื่อให้เก็บรักษาคุณภาพไว้ได้นานยิ่งขึ้น ส่งต่อเต้าหู้ยี้สู่จานอาหารร่วมสมัยให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลอง

“ประเด็นคือคนไม่รู้ว่าเต้าหู้ยี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง เราเองยังนึกออกแค่หมูผัดเต้าหู้ยี้ พอได้ทำโปรเจกต์นี้ถึงได้รู้จักเต้าหู้ยี้มากขึ้น ถ้าคนอื่นได้รู้ด้วยก็คงจะดี” กัณห์ ไตรจันทร์ นักออกแบบจาก Southson Design เล่าถึงโจทย์ใหญ่อย่างการที่เด็กรุ่นใหม่ไม่คุ้นเคยกับเต้าหู้ยี้ เขาจึงเริ่มจากการปรับส่วนชั้นวางใหม่เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่มาที่ไปของเต้าหู้ยี้ พร้อมบอกวิธีทานตั้งแต่แบบง่าย จนถึงเมนูพิเศษ ทั้งยังเพิ่มบรรจุภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบถุงบีบที่ดูแปลกตาน่าลอง

“คนต้องรู้ก่อนว่าเต้าหู้ยี้ทำอะไรได้ แบรนด์ถึงจะไปต่อได้ เราเริ่มจากการออกแบบให้ชั้นวางเล่าเรื่อง บอกข้อมูลได้ว่าเต้าหู้ยี้มีแบบไหนบ้าง แบบก้อน แบบเหลว และใส่ลงในเมนูไหนได้บ้าง เช่น ใช้เป็นน้ำจิ้มหมูกระทะได้ เพราะฉะนั้น จริง ๆ แล้ว เด็กรุ่นใหม่ก็ซื้อเต้าหู้ยี้ไปทานได้เหมือนกัน

“ส่วนบรรจุภัณฑ์ เต้าหู้ยี้เสวยทำใส่ขวดแก้วมานาน ไม่เคยเปลี่ยนเลย เราอยากเพิ่มทางเลือกให้เขา ลองทำกันหลายอย่างมาก จนในที่สุดก็เกิดความเป็นไปได้ที่จะเอาเต้าหู้ยี้มาใส่ในถุงแบบบีบสะดวก เจ้าของร้านก็ถูกใจและเห็นตรงกันว่า รูปแบบนี้น่าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้”

ถึงตรงนี้ บรรดานักชิมคงเปลี่ยนจากร้องยี้เป็น ‘ของมันต้องมีติดตู้เย็น’

ร้านเต้าหู้ยี้เสวย

ที่ตั้ง : 21 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 2465

07

ไอติมบันหลีเฮง X Lunaray

ถือไอศกรีม เดินกิน แล้วเช็กอินเมืองเก่าสงขลา

จากร้านน้ำชา กาแฟ ซาลาเปาที่เปิดขายตั้งแต่ 9 โมงเช้ายันตี 4 ของอีกวัน ผ่านมือสู่รุ่นสองที่ทำให้ใคร ๆ ต้องคิดถึงเมนูไอศกรีมกะทิสดที่เสิร์ฟคู่กับถั่วเขียวต้ม จนส่งต่อสู่รุ่นสาม ไอศกรีมรสวานิลลาและหวานเย็นลิ้นจี่ช่วยชูรสให้หลากหลายกว่าที่เคย ถึงวันนี้ นับแล้วเป็นเวลากว่า 90 ปีที่บันหลีเฮงไม่เคยหยุดนิ่ง มีลูกค้ามากมายแวะเวียนเข้ามาทักทายอยู่เสมอ ดั่งคำแปลภาษาจีนฮกเกี้ยนของชื่อร้านที่ว่า ‘มีโชคมีลาภเป็นหมื่น ๆ’ ซึ่งโชคลาภของที่นี่ก็คงเป็นลูกค้าที่ยังคงรักและผูกพันกับร้านแม้เวลาจะล่วงเลยเกือบศตวรรษ

ความพิถีพิถันของบันหลีเฮงคือการใช้วัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมที่ทำวันต่อวัน เมล็ดถั่วเขียวที่คัดสรรอย่างดี ถั่วลิสงตากแห้งคั่วเอง ตลอดจนเครื่องเคียงทุกชนิด

การร่วมมือระหว่างเจ้าของคนปัจจุบัน เจเนอเรชันที่ 5 อย่าง หมี-ศุภวิชญ์ อัครวิเนค ที่กำลังเรียนวิชารับช่วงต่อ กับ ปุ่น-ธัญจิรา วงศ์หิรัญเดชา นักสร้างสรรค์และเชฟรุ่นใหม่ด้านขนมหวาน จึงเป็นโอกาสดีในการทำความเข้าใจร้านค้า และการขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงความคลาสสิกแบบเดิมไปพร้อมกัน

“เราเริ่มศึกษาตั้งแต่ว่าเขาขายอะไร กลุ่มลูกค้าเป็นใคร พบว่ากลุ่มลูกค้าของที่นี่เป็นคนมีอายุ เพราะสินค้าเป็นไอติมโบราณ เราก็เลยคุยกันว่าร้านน่าจะจับกลุ่มลูกค้าวัยเด็กด้วย” ปุ่นเล่าถึงการทดลองนำไอศกรีมสองรสชาติหลักมาเล่นแร่แปรธาตุเป็นแบบแท่งและแบบโฟลต ผสมท็อปปิ้งที่มีความเป็นสงขลา เช่น มะพร้ามคั่วและน้ำตาลโตนด ก่อนตบท้ายด้วยบรรจุภัณฑ์แบบเดินทาน เผื่อนักท่องเที่ยวอยากกินไอศกรีมไป เดินชมเมืองไป

“เราพยายามดัดแปลงจากสิ่งที่เขามี บันหลีเฮงเป็นธุรกิจครอบครัว เขาทำกันเองทั้งหมด เราจึงต้องคิดสิ่งง่ายที่สุดสำหรับเขา จนสุดท้ายได้เป็นไอติมแบบแท่งกับแบบโฟลต ส่วนแพ็กเกจจิ้ง เราก็เอากราฟิกเข้ามาช่วย น่าจะดึงคนรุ่นใหม่ให้ถ่ายรูปลงโซเชียลก่อนรับประทาน ช่วยขยายฐานลูกค้าอีกทางหนึ่ง”

ไอติมบันหลีเฮง

ที่ตั้ง : 120 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 3647

08

สิน อดุลยพันธ์ X พลอย จริยะเวช

ยกซีอิ๊วก้นครัวมาเปิดตัวอยู่บนโต๊ะ

ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองแห่งสงขลา ก่อตั้งโดย นายสิน อดุลยพันธ์ ราว พ.ศ. 2466 เดิมทีในอดีตจำหน่ายผ้า สังฆภัณฑ์ จีวร รองเท้า ต่อมาได้เพิ่มจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากทะเล โดยเฉพาะข้าวเกรียบกุ้งและปลา จนเคยคว้ารางวัลชนะเลิศในงานกอุพากัม การประกวดผลผลิตอันเกิด 3 สามกัม (กรรม) คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ทุกวันนี้ร้านอายุเฉียดร้อยสืบสานมาถึงรุ่นที่สามและสี่ อย่าง ฉวรรณา กิติคุณ, พิเนต กิติคุณ และ พิมลภา กิติคุณ ตามลำดับ โดยทั้ง 3 ยังคงให้ความสำคัญกับผลผลิตที่สดใหม่จากประมงท้องถิ่นและผลไม้แปรรูปที่คัดแต่ผลไม้ที่ดีที่สุดไม่เปลี่ยนแปลง

พลอย จริยะเวช นักเขียนและนักออกแบบจากสํานักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ ยังคงติดใจในรสชาติซีอิ๊วหวานและน้ำพริกเผาจากร้านสิน อดุลยพันธ์ เสมอมา เธอจึงนำมารังสรรค์ในบรรจุภัณฑ์ขนาดพอเหมาะตั้งบนโต๊ะอาหาร ด้วยอยากให้สินค้ามีโอกาสออกมานอกครัวบ้าง

“สินค้าของที่นี่ส่วนใหญ่มักถูกเก็บไว้ที่ก้นครัว ทำกับข้าวเสร็จแล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น เราอยากให้เขาได้มาโชว์บนโต๊ะ หรือได้อยู่ในรูปแบบของของฝากบ้าง เพราะเราเองก็เป็นแฟนสินค้าของที่นี่อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ นักออกแบบผู้เป็นแฟนคลับตัวยงยังจับมือกับนักปั้นอย่าง อาจารย์ผดุงเกียรติ รัตนศรี ในการออกแบบชุดถ้วยจากดินสงขลาเพื่อส่งเสริมอรรถรสในการรับประทาน และสำหรับนักชิมยังมีชุด Catch of the Day Bag ที่แบ่งออกเป็น Fruit of the Sea บรรจุข้าวเกรียบกุ้ง ปลา ซองเล็กคู่กับน้ำพริกเผาและถ้วยกระเบื้องเคลือบขาวและ ชุด Fruit of the Tree ที่ประกอบไปด้วยลูกหยีทรงเครื่อง มังคุดกวน พร้อมอ่านเพลินไปกับ Storybook เล่มพิเศษที่บรรจงเขียนและลงสีลายเส้นอย่างประณีต

“คนสงขลาจับปลา ทำประมง เราก็เลยเอาน้ำพริกเผาและข้าวเกรียบมาใส่ในถุงส้ม เป็นกิมมิกเหมือนแหดักปลา แล้วก็นำเรื่องราวของร้านมาทำเป็น Storybook บอกเล่าเรื่องราวเกือบร้อยปีของที่นี่ บอกเลยว่าสนุกมาก เราได้ตอบหลายคำถามที่คนสงสัย เช่น ทำไมร้านนี้ถึงมีสีสันที่เหมือนหลุดมาจากหนังของ Wes Anderson ถ้าอยากรู้ต้องลองซื้อไปกินและอ่านดูแล้วล่ะ”

สิน อดุลยพันธ์

ที่ตั้ง : 199 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 1041

09

ยินดี X NA studio

ของดี อย่างดี จากร้านยินดีโฉมใหม่

ร้านสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่ยืนยันคุณภาพผ่านกระบวนการผลิตมานานกว่า 70 ปี ส่งต่อกรรมวิธีตั้งแต่รุ่น คุณย่าทวดยินดี รัตนปราการ สู่รุ่นคุณป้ารุ่นที่ 3 คณธร รัตนปราการ ปัจจุบันสืบทอดโดยรุ่นที่ 4 คือ กิ๊ฟ-กมลพร รัตนปราการ การันตีด้วยจุดขายที่ระบุคุณภาพผ่านของดี อย่างดี พร้อมให้ลูกค้ารู้สึกยินดีเมื่อได้รับสินค้าส่งตรงถึงมือ

สินค้าที่ขาดไม่ได้ถ้ามายินดี คือ ข้าวเกรียบชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าวเกรียบที่ทำจากกุ้งแชบ๊วยในทะเลสาบ ที่จะเหนียวนุ่ม หอมกรุ่น น้ำบูดูเค็ม บูดูหวานทำจากปลาไส้ตันคัดพิเศษ และลูกหยีอย่างดีจากธรรมชาติ ไม่แต่งสี กวนแล้วมีความหนึบหนับ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ละมุนลิ้น

ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ นำมาสู่รูปแบบฉลากและโลโก้ที่แตกต่าง ซึ่งไม่สะดวกต่อการใช้งาน การจับมือระหว่างยินดีและ NA studio จึงเป็นโอกาสในการสร้างตัวตนของร้านให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ณฐธรรม โรจน์อนุสรณ์ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่ง NA studio พยายามทำให้โลโก้และลวดลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สอดคล้องกันมากขึ้น ทั้งบนถุงและฉลาก โดยนำงานออกแบบดั้งเดิมอายุ 70 ปีของคุณย่ามาต่อยอดลงในแพ็กเกจจิ้ง ทั้งยังเปลี่ยนจากถุงเป็นกล่องเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง

“รู้สึกประทับใจมาก ๆ การได้งานทำร่วมกับคนในชุมชน ได้รู้จักกับร้านค้าดั้งเดิม ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นจริง ๆ ดีใจนะที่ได้นำคุณค่าของผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมมาแต่งหน้าทำผมใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่ายขึ้น” ณฐธรรมเล่าด้วยรอยยิ้ม

ร้านยินดี

ที่ตั้ง : 206-8 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 1028

10

แต้เฮี้ยงอิ้ว X Trang Koe

ซอสต้มยำ-เต้าหู้ยี้ คู่ซี้สองธาตุ

จากสองเมนูชูรสฉบับนายแต้เฮี้ยงอิ้วอย่างเป็ดพะโล้และแกงจืดวุ้นเส้นผักกาดขาว ในรุ่นคุณพ่อที่เลือกปักหลักและแต่งงานกับหญิงสาวชาวสงขลา รับช่วงต่อโดยคุณแม่ จนสืบทอดสู่พี่สาวคนโตและเริ่มสร้างเป็นร้านที่เห็นปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2520 เรียกได้ว่า เป็นตำรับอาหารครอบครัวที่ส่งต่อมากว่า 3 รุ่น ตั้งแต่รุ่นเตี่ย คุณแม่ รุ่นพี่ ๆ ทั้ง 4 คน โดยมี น้าเอียด น้องคนสุดท้องรับช่วงต่อตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ทำหน้าที่แทนพี่สาวร่วมกับ น้าไพโรจน์ ผู้เป็นสามีจนถึงทุกวันนี้

ต้นทางความอร่อยของแต้เฮี้ยงอิ้ว มาจากวัตถุดิบสดใหม่ที่ต้องคัดแล้วคัดอีก โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ต้องมาจากตลาดท่าเรือประมงเล็ก เต้าหู้ยี้ จากร้านเต้าหู้ยี้เสวย และน้ำพริกเผารสเด็ดจากร้านสิน อดุลยพันธ์ แสดงถึงความผูกพันของชุมชนที่อัดแน่นอยู่ในทุกคำ ทุกเมนู

ความร่วมมือครั้งนี้ เชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ ตั้งต้นจากความรู้สึกรักและศรัทธาในการใช้วัตถุดิบของร้านแต้เฮี้ยงอิ้วที่สืบทอดมายาวนาน จนพัฒนาเป็นซอสอเนกประสงค์ 2 สูตรคือ ซอสเต้าหู้ยี้สีครีม ที่มีความเย็น เค็ม นุ่มลึก กับซอสต้มยำแห้ง สีแดงดำ เผ็ดร้อน ส่วนผสมที่สมดุลลงตัวสะท้อนคู่ของเรือนธาตุร้อนและเย็น ทั้งยังชูรสชาติการปรุงอย่างเชี่ยวชาญตามฉบับแต้เฮี้ยงอิ้ว สู่จานอาหารประจำบ้านที่ดัดแปลงเป็นเมนูสารพัดอย่างตามต้องการได้

“ทีแรกเราเสนอให้ขายอาหารแช่แข็งในช่วงโควิด เพราะหลายคนก็คงคิดถึงอาหารของแต้ฯ แต่ที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก เขาก็เลยไม่ซื้อไอเดียอาหารแช่แข็ง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้พลาสติกในการห่อหุ้มบรรจุ เราก็เลยมาดูกันใหม่ว่า ในช่วงวิกฤต ถ้าลูกค้ามาซื้ออาหารไม่ได้ แล้วทำยังไงให้เขาพอจะลิ้มรสอาหารแบบฉบับร้านแต้ฯ ได้ ก็เลยมาลงที่ซอส ซึ่งก็เอารสชาติต้มยำแห้งที่ครอบครัวอยากนำเสนอ บวกกับเราเองชอบไก่ผัดเต้าหู้ยี้ของร้านนี้ จึงได้เป็นสองรสชาติที่ลูกค้านำไปประกอบอาหารทานที่บ้านตัวเองได้ในที่สุด”

ร้านแต้เฮี้ยงอิ้ว

ที่ตั้ง : 85 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 1505

11

ยาจีนงี่เทียนถ่อง X Eden’s

เมื่อร้านยาชวนเปิดใจด้วยสมุนไพรในอาหารจานเด็ด

เมื่อการแวะร้านยาไทยจีนไม่ใช่แค่ยามเราเจ็บป่วย จากร้านยา 4 เจเนอเรชันที่เริ่มจากรุ่นทวด ที่ย้ายถิ่นฐานจากจีนแผ่นดินใหญ่มาปักหลัก ณ เมืองสงขลา และดำเนินกิจการเป็นร้านขายยาสมุนไพรไทยจีน ส่งต่อถึงรุ่นปู่ รุ่นพ่อแม่ และรุ่นของ ตี๋-เตชธร ตันรัตนพงศ์ กิจการแรกเริ่มมีทั้งการขายส่งและขายปลีก ทั้งในระโนด คลองแงะ ทุ่งลุง และ บริเวณโดยรอบเมืองสงขลา จนเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังชุมชนต่าง ๆ นับเป็นร้านขายสมุนไพรรายใหญ่ของจังหวัดในช่วงเวลานั้น ก่อนที่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมุนไพรจะเป็นสิ่งหายาก จึงคงไว้เพียงการขายปลีกหน้าร้านจวบจนปัจจุบัน

งี่เทียนถ่อง เป็นการอ่านตามสำเนียงจีนฮากกา งี่ แปลว่า สอง เทียน แปลว่า ฟ้า หรือ สวรรค์ รวมความกันหมายถึง ฟ้าหนึ่งคือฟ้านอกร้าน พอก้าวข้ามมาในร้านเสมือนเข้ามาอีกฟ้าหนึ่ง โดยอนุมานว่าคือสวรรค์ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาเจียดยาจากสถานที่แห่งนี้ ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า คุณค่าของสมุนไพรไม่ได้ใช้รับประทานเมื่อยามเจ็บป่วยเท่านั้น หากแต่ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาหารเพื่อการบำรุงร่างกายอีกด้วย

หลังจาก นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ แห่ง Eden’s ได้ร่วมสนทนากับร้านขายยาสมุนไพรจีนโบราณอายุกว่า 100 ปี จึงพยายามหาจุดร่วมที่สมดุลระหว่างภาพลักษณ์ของร้านและบรรจุภัณฑ์ที่ร่วมสมัย เรียบง่าย เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ จนพบคำตอบที่เห็นพ้องกันว่า ควรให้คนตั้งต้นเปิดใจผ่านการนำเสนอสมุนไพรในรูปแบบอาหารเมนูดั้งเดิม เช่น ชุดสตูว์สงขลา ชุดพะโล้ ชุดตุ๋นไก่ ชุดตุ๋นหมู ซึ่งน่าจะเผยแพร่ออกไปในวงกว้างต่อได้ในอนาคต

“เราไม่ได้คิดว่าไปช่วยออกแบบเลย เพราะสิ่งที่เราทำจริง ๆ เหมือนกับการไปทำงานร่วมกันมากกว่า เราไม่เคยรู้จักที่นี่มาก่อน แต่พอได้รู้จัก เรารู้สึกว่านี่คือความมหัศจรรย์ มันเปิดโลกเรามาก ๆ เราได้เห็นการชั่งสมุนไพรด้วยตาชั่งแบบโบราณ แกะเครื่องยา กลิ่นตลบอบอวล ตรงหน้าคือความรักในอาชีพ ป๊าม้าของคุณตี๋ไม่ต้องพูดอะไรเลย แต่สิ่งที่เห็นคือภาพที่งดงามตามธรรมชาติ เราอยากให้ทุกคนได้เห็นสิ่งนี้”

ร้านยาจีนงี่เทียนถ่อง

ที่ตั้ง : 59 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

โทรศัพท์ : 0 7431 1461

12

ฮับเซ่งสังขยา X Eden’s

จากสังขยาสูตรไหหลำ 100 ปีสู่เมนูอาหารเช้าโฉมใหม่ไม่รู้จบ

สภากาแฟยามเช้าที่ตั้งต้นจากรุ่นคุณพ่อที่เป็นพนักงานรถไฟ และหันมาตั้งต้นธุรกิจร้านน้ำชาใน พ.ศ. 2475 เปิดขายตั้งแต่เช้ายันค่ำ เดิมร้านตั้งอยู่ตรงฝั่งซ้ายของอาคาร ต่อมาใน พ.ศ. 2517 ได้ย้ายมายังร้านซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน และยังคงเป็นจุดรวมตัวของวัฒนธรรมยามเช้า ใคร ๆ ก็ต้องมาแวะที่นี่ ไม่ต่างจากชื่อ ฮับเซ่ง ที่หมายถึง ‘รวมด้วยกันจนก่อให้เกิดความสำเร็จ’

ไฮไลต์สำคัญของร้านหนีไม่พ้นสังขยาไหหลำสูตร 100 ปีที่กวนเคี่ยวหลายต่อหลายชั่วโมง โดยมี ป้าบ่วย-ยุพิน เกียรติโชติชัย เป็นผู้สั่งวัตถุดิบกับร้านที่ซื้อขายกันมาเนิ่นนานและลงมือกวนเองทั้งหมด และมี น้าอ่าง-ปรก ปฐพีทอง น้องชายคอยช่วยดูแลเรื่องชา กาแฟ อย่างพิถีพิถัน

แต่เนื่องจากกรรมวิธีผลิตสังขยาที่ยาวนาน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บางครั้งสังขยาก็เสียก่อนจำหน่ายหมด นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ แห่ง Eden’s ผู้หลงใหลและคลุกคลีในธุรกิจอาหารเช้า จึงหยิบสังขยาไหหลำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในเมนูใหม่ทั้งขนมปังกดลาย และเครื่องดื่มร้อนเย็นแบบทานง่ายที่คุณสามารถแกร็บแอนด์โกแบบไว ๆ จะทานที่ไหนก็ให้รสชาติฉบับฮับเซ่งได้เหมือนเดิม

“เราเป็นลูกค้าอยู่แล้ว ไปกินชาที่นี่ทุกครั้งที่ไปสงขลา ทีแรกก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะช่วยอะไรเขาได้ เพราะเราชอบและนับถือในสิ่งที่เขาเป็นอยู่แล้ว” นิรามย์เริ่มเล่า

“เราใช้ขนมปังแบบเดิม ไซส์เดิม แค่ไปกดในแม่พิมพ์เพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า ลูกค้าเก่าแก่อาจจะชอบแบบเดิม แต่ลองแบบใหม่ดูก็ไม่เสียหาย แล้วเราก็เพิ่มกระดาษห่อ ที่ภายในเล่าประวัติความเป็นมาของสังขยา นอกจากกระดาษห่อจะช่วยให้ขนมกินง่ายขึ้น คนที่กินก็จะได้รู้เรื่องราวของสังขยาไหหลำด้วย”

ร้านฮับเซ่ง

ที่ตั้ง : 152 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000

ภาพ : Made in Songkhla

Leave a Comment