Home > เครื่องประดับเฉพาะ > ธุรกิจเครื่องประดับ : แข่งขันดุเดือดไทยอยู่แถวหน้า

ธุรกิจเครื่องประดับ : แข่งขันดุเดือดไทยอยู่แถวหน้า

อัญมณีและเครื่องประดับแม้จะเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย แต่ก็เป็นสินค้าที่ผู้คนทั้งไทยและเทศชื่นชอบ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลาย ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่ายังคงเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ไม่ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมจะชะลอตัวลงก็ตาม เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอย

บ้านเราเป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงในงานฝีมืออัญมณีไม่แพ้ชาติใด ๆ ในโลก และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ความโดดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ การตั้งชิ้นส่วนของเครื่องประดับด้วยมือ ความละเอียดของงาน ความคงทนในการใช้งาน ความหลากหลายของวัสดุที่เลือกใช้ การดีไซน์ และเทคนิคพิเศษทางอัญมณีของไทย

หากดูในภาพรวมช่วงสองสามปีมานี้แนวโน้มตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในเมืองไทย อาจจะซบเซาลงไปบ้าง แต่คงเป็นระยะเวลาไม่นานนักเพราะในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างวันขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน หรือวันวาเลนไทน์ ยอดซื้อโดยรวมยังไปได้ดี

ขณะที่บางแบรนด์ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายเครื่องประดับเพชร "ยูบิลลี่" ที่ออกมาประกาศเตรียมบุกตลาดอาเซียน เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มสินค้าลักชัวรีแบรนด์อย่างตลาดเครื่องประดับเพชรมีอัตราการเติบโตดีมาก

พร้อมกันนั้นได้เปิดแบรนด์ใหม่ชื่อ "Jubilious” และนำคอลเลกชั่นใหม่กว่า 300 แบบให้ลูกค้าได้เลือกตามใจชอบ ซึ่งนางสาวอัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) มั่นใจว่าสิ้นปียอดขายโตถึง 15-20% แสดงว่าตลาดในประเทศยังมีโอกาสขยายตัว

สาเหตุที่บริษัท ยูบิลลี่ฯ เปิดตัวแบรนด์ใหม่นั้น เพราะต้องการกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยเน้นไปที่กลุ่มสาวทำงานที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย ชอบแต่งตัวและรักแฟชั่นจากฐานเดิมลูกค้าหลัก ๆ คือ กลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูงซึ่งสินค้าเพื่อตอบสนองคนกลุ่มใหม่นี้จะเน้นเป็นแบบ mix and match คือ สามารถนำมาสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันได้ในหลากหลายรูปแบบนับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี

ข้อมูลของบริษัทดังกล่าวที่จะเข้าไปรุกตลาดอาเซียนชี้ชัดว่าตลาดนี้ยังมีกำลังซื้อสูง สอดรับกับข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ที่จะไปเปิดตลาดใหม่ในประเทศเมียนมาร์ และอีกหลายประเทศอย่าง เกาหลีใต้ โมซัมบิก และแอฟริกา ขณะที่ปัจจุบันบรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทย รวมไปถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศในตะวันออกกลาง โดยมีสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าหลักมาตลอด

การจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศคู่ค้าอื่น

ไทยต้องยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าประเภทที่ว่าจะมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของสากล แต่ตลาดนี้ก็มีการแข่งขันกันสูงมาก กระทั่งผู้ประกอบการในนามสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย เสนอต่อภาครัฐว่า การจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศคู่ค้าอื่น ไทยต้องยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ต้องยกเลิกกำแพงภาษีต่าง ๆ เช่น ยกเว้น VAT พลอยก้อน และเพชร/พลอยที่เจียระไนแล้ว ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยกเว้นภาษีนำเข้าสร้อยเงินขดม้วน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้พฤติกรรมของลูกค้าส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ จึงระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่าย โดยเฉพาะในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง ดังนั้นสินค้าในกลุ่มดังกล่าวควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยจะต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เน้นดีไซน์ทันสมัย มีความเป็นเอกลักษณ์ หรูหราได้แต่ต้องคุ้มค่า สามารถใช้ในหลากหลายโอกาส ที่สำคัญราคาต้องสมเหตุสมผล ซึ่งไม่กี่ปีมานี้เครื่องประดับเงินและทองคำขาว ได้รับความสนใจมากยิ่งเงินเพราะราคาไม่แพงหากเทียบกับเครื่องประดับทอง อย่างเช่นผู้บริโภคในประเทศอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่นิยมเครื่องประดับแท้รูปแบบแปลกใหม่ ทันสมัยอยู่ในแฟชั่นเน้นชิ้นงานทำด้วยมือ บางส่วนนิยมเครื่องประดับทองที่มีกะรัตสูงชอบงานคุณภาพ แต่ในส่วนของกลุ่มคนวัยทำงาน รวมทั้งกลุ่มเจ้าสาวนิยมเครื่องประดับทำจากวัสดุสีขาว อย่างเงินและทองคำขาว นอกจากนี้ยังพบว่าในอนาคตกลุ่มลูกค้าชายในประเทศอังกฤษน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมด้วย ซึ่งมักนิยมสวมใส่เครื่องประดับประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือและตุ้มหู ที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายก็มองเห็นตลาดกลุ่มนี้ที่มีทั้งระดับบนและระดับล่าง สำหรับคู่แข่งทางการตลาดของไทยนั้นแม้จะมีหลายประเทศ แต่ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ จีนและอินเดีย ซึ่งสองประเทศนี้ต่างเร่งพัฒนาคุณภาพและกำลังผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในขณะที่สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฮ่องกง ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะใช้เทคโนโลยีทันสมัยและมีทักษะทางการผลิตสูง ทั้งนี้ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ แม้หลายฝ่ายจะวิเคราะห์ตรงกันว่า เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยซึ่งจะช่วยให้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอัญมณีไทยและอุตสาหกรรมเครื่องประดับดีขึ้นเพราะตลาดใหญ่ขึ้นและจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีศุลกากรแต่ในขณะเดียวกันคู่แข่งก็มากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการด้านนี้จะต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งมีหลายปัจจัยอาทิต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีควบคู่กับคุณภาพงานฝีมือ พร้อมกันนั้นต้องสร้างความแตกต่าง สร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าให้โดดเด่น ที่สำคัญต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ดีไซน์ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย กลุ่มคนทำงาน หรือกลุ่มวัยรุ่น เน้นการออกแบบเครื่องประดับที่มีลักษณะผสมผสาน ระหว่างแนวตะวันตกและตะวันออกเพื่อทำให้เครื่องประดับไทยมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรื่องราคาต้องมีความเหมาะสมกับชิ้นงาน อีกทั้งต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ซึ่งนับวันจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม ผู้บริโภคล้วนต้องการสินค้าที่มีคุณภาพคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

Leave a Comment