เปลือกหอยเป็นวัสดุยอดฮิตในวงการเครื่องประดับและแฟชั่นที่เรามักพบเห็นในคอลเล็กชั่นต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในยุคก่อนหรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน มันก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย แต่ไม่ว่าจะกี่ฤดูกาลผ่านไป…จะมีสักกี่ครั้งที่เราตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ เปลือกหอย” อย่างจริงจัง
ย้อนกลับไปในแง่การขุดค้นทางประวัติศาสตร์ เปลือกหอยถือเป็นเครื่องประดับที่อยู่คู่กับมนุษย์มานาน ตามข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ในช่วง 33,000-10,000 ปีก่อนคริสตศักราช หรือช่วงยุคหิน มนุษย์นิยมนำเปลือกหอยหรือกระดูกของสัตว์ต่างๆ มาทำเป็นเครื่องประดับ โดยส่วนใหญ่เปลือกหอยจะถูกนำมาเจาะรูเพื่อทำเป็นจี้ห้อยคอ หรือนำมาร้อยเรียงกันเป็นสร้อย และด้วยสภาพความเป็นอยู่ในยุคนั้น มนุษย์จำเป็นต้องออกไปล่าสัตว์เพื่อประทังชีวิต ทำให้ชาวยุคหินมีความเชื่อและศรัทธาว่าการใส่เครื่องประดับที่มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์จะช่วยป้องกันอันตรายในขณะออกไปล่าสัตว์ และสามารถควบคุมสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งที่มองไม่เห็น เปลือกหอยหรือกระดูกสัตว์จึงกลายเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นสิ่งสำคัญต่อความเชื่อของพวกเขา
สร้อยคอในช่วง 4400-3800 ก่อนคริสตศักราช ที่ร้อยเรียงไปด้วยเปลือกหอยและกระดูกสัตว์ ถูกเก็บรักษาไว้ที่ The MET Meuseum
นอกจากเปลือกหอยจะเป็นเครื่องประดับที่มีผลต่อความเชื่อแล้ว มันยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงตัวตนของผู้ใส่เช่นกัน เพราะในยุคหินยังไม่มีการแบ่งประเทศ มนุษย์มักจะเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ และกระจายกันอยู่เป็นกลุ่ม ทำให้ต้องหาสิ่งที่บ่งบอกการเป็นชนเผ่านั้นๆ เปลือกหอยหรือกระดูกสัตว์จึงทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชนเผ่าของมนุษย์ยุคหิน
ถึงแม้จะไม่มีการระบุชัดว่าเจนว่าเปลือกหอยดีกว่าหรือล้ำค่ามากกว่ากระดูกสัตว์อื่นอย่างไร แต่ที่ผ่านมา เปลือกหอยมักถูกนำมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์อยู่บ่อยครั้ง อย่างภาพวาด Birth of Venus ที่วาดโดย Sandro Botticelli จิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้นของอิตาลี จะเห็นได้ว่าในภาพวาดนั้นมีเทพีวีนัสยืนอยู่บนเปลือกหอยที่ถูกพัดมาสู่ชายฝั่ง ว่ากันว่าเปลือกหอยขนาดใหญ่ในภาพนี้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบและสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นผู้หญิงและความอุดมสมบูรณ์ อาจเป็นเพราะรูปทรงของเปลือกหอยมีความโค้งเว้าคล้ายสัดส่วนของผู้หญิง หรือเรื่องสุสานของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในเมืองแคโรไลนา ที่มักประดับหลุมศพด้วยเปลือกหอยหลากหลายรูปทรง พวกเขามีความเชื่อว่าการประดับเปลือกหอยหลากหลายรูปทรงนี้สามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้ายและสามารถส่งวิญญาณของคนที่รักไปสู่บ้านเกิดได้ เพราะความแข็งของเปลือกหอยเปรียบเสมือนเกราะป้องกันจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเปลือกหอยมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง และถูกเปลี่ยนไปตามความเชื่อของคน
(ซ้าย) ต่างหูจาก Acne Studi ที่นำเปลือกหอยมาปรับแต่งและผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ / (ขวา) สร้อยเปลือกหอยที่ถูกนำมาประดับเป็นไอเท็มชิ้นสเตตเมนท์จากแบรนด์ Krizia
ปัจจุบัน เปลือกหอยไม่ได้เป็นสิ่งที่หายาก หรือไม่ได้มีการใส่เพื่อบอกความแตกต่างใดๆ เหมือนในสมัยก่อน และยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่สาวๆ นิยมใส่อยู่เสมอ ยิ่งนำมาแมตช์กับเสื้อเชิ้ตสีขาวหรือชุดเรียบๆ สักชุด ก็เปลี่ยนลุคให้ดูเก๋ได้แล้ว อีกทั้งเหล่าดีไซเนอร์แบรนด์ดังอย่าง Prada หรือ Acne Studio ก็นำเปลือกหอยมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น นอกจากจะนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่มีชิ้นใหญ่ และโดดเด่นแล้ว ดีไซเนอร์ยังนิยมนำเปลือกหอยมาผสมผสานกับวัสดุใหม่ๆ มากขึ้น อย่างการนำเปลือกหอยไปชุบโลหะทั้งชิ้นหรือเลือกชุบแค่ครึ่งเดียว เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับแอ็กเซสเซอรี่เปลือกหอย หรือแม้กระทั่งการนำเปลือกหอยมาเจียระไนให้เป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อลดความจำเจของรูปทรงเปลือกหอยที่เคยเห็นกันจนชินตา เทรนด์เหล่านี้เป็นที่นิยมบนรันเวย์ Spring/Summer 2021 ที่ผ่านมา
สร้อยเปลือกหอยจากแบรนด์ Sarrai ที่ทำจิวเวลรีภายใต้คอนเซ็ปต์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความน่าสนใจของเทรนด์ปลือกหอยอีกอย่างหนึ่งในช่วงนี้ คือการนำมาใช้สำหรับ Sustainable Jewelry หรือจิวเวลรีที่เน้นความยั่งยืน ล่าสุดเทรนด์ของจิวเวลรีแบบยั่งยืนนี้นิยมนำเปลือกหอยมุกที่เพาะจากฟาร์มเลี้ยงมุกมาใช้ทดแทนการใช้เปลือกหอยจากทะเล ถึงแม้ว่าเปลือกหอยจากทะเลจะเป็นวัสดุที่เกิดตามธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายเองได้ตามกาลเวลา แต่การนำเปลือกหอยมุกจากฟาร์มเลี้ยงมาใช้แทนนั้นสามารถลดการรบกวนธรรมชาติได้มากกว่า อย่างแบรนด์ หรือสาหร่าย แบรนด์จิวเวลรีแบบยั่งยืนสัญชาติไทย ได้เลือกเปลือกหอยมุกมาผสมผสานกับวัสดุเงิน 925 ซึ่งเงินเองก็มีคุณสมบัติในการนำมาหลอมใหม่ได้ จึงกลายมาเป็นจิวเวลรีที่ดูล้ำสมัยแต่ยังคงรักษ์โลกในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าเราจะทิ้งสร้อยเส้นนี้ไปหรือทำหล่นหาย สร้อยเปลือกหอยเส้นนี้ก็จะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งเปลือกหอยยังมีฤิทธิ์เป็นด่าง สามารถบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติต่อไปได้อีกทอดหนึ่งด้วย